นโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น

คำแถลงนโยบายการบริหารราชการของนายตอเละ  เซ็ง  (นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ)

แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ วันอังคาร ที่ 4  มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมน้ำพุเสด็จ องค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ

เรียน  ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะที่เคารพและท่านสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะผู้ทรงเกียรติทุกท่าน

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนราธิวาสได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมากระผมนายตอเละ เซ็ง ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับความเมตตาและความเข้าใจจากพี่น้องชาวตะปอเยาะเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการส่งเสริมสนับสนุนบริการสาธารณะในกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามความต้องการของพี่น้องประชาชนชาวตะปอเยาะ ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้งได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม  2564

บัดนี้กระผมและคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะได้กำหนดนโยบายในการบริหารงานราชการองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและคำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รวมถึงพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7  พ.ศ. 2562  กำหนด อำนาจ หน้าที่ และภารกิจขององค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ

ดังนั้น  เพื่อให้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล  กระผมและคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะจึงได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการและพัฒนาตำบลตะปอเยาะ โดยแบ่งนโยบายเป็นสำคัญไว้ 9 ด้าน คือนโยบายเร่งด่วน 1 ด้านและด้านอื่นๆอีก 8 ด้านเพื่อให้สอดคล้องแผนพัฒนาท้องถิ่นพ.ศ.2561 – 2565 และแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2566 – 2570 วิสัยทัศน์ของข้าพเจ้า คือ “ประชาอยู่ดีมีสุข คู่คุณธรรม เศรษฐกิจก้าวหน้า คมนาคมทั่วถึง”ซึ่งได้สอดคล้องวิสัยทัศน์ของอบต.ตะปอเยาะในกรอบแผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) “พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจก้าวหน้า ประชาอยู่ดีมีสุข ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้นำเสนอต่อสภานั้นจักได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง งานหรือกิจกรรมใดที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็จะสานต่อและพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป งานใดที่มิได้สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมก็จะละทิ้งไป งานใดเคยมีและสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้วได้หายไปก็จะฟื้นฟูสานต่อขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนการดำเนินงานกีรออาตีและโรงเรียนตาดีกา การทบทวนระบบการเก็บขยะและแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะมูลฝอยตามถนนและตรอกซอกซอยต่าง ๆ อย่างทั่วถึง การจัดระบบสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน น้ำไหล ไฟสว่าง ปรับปรุงถนนหนทางเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีความสะดวกสบายไม่เดือดร้อนส่งเสริมกิจกรรมเยาวชน  ส่งเสริมอาชีพและการเพิ่มรายได้ของประชาชน ส่งเสริมการศาสนา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการกีฬา เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะได้ประสานงานกับท้องถิ่นอื่นและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลงานที่สมบูรณ์ โดยใช้กระบวนการ “ร่วมรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ” ทั้งนี้การบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ จักเป็นไปอย่างเสมอภาค เพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวตะปอเยาะ โดยถ้วนหน้า อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน

นโยบายการบริหารราชการ 9 ด้าน

1.นโยบายเร่งด่วน

1.1) ปรับปรุงและพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ เพื่อตอบสนองงานและภารกิจได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ โดยปรับปรุงโครงสร้างและการกำหนดภารกิจและหน้าที่ที่สอดคล้องกัน การจัดตั้งส่วนราชการใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภารกิจ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติตลอดจนปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติงาน พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความสะดวกคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

1.2) ส่งเสริมและสนับสนุน ศาสนศึกษา(โรงเรียนตาดีกา/ศูนย์กีรออาตี)  และศาสนสถาน (มัสยิด/บาลาเซาะ) ให้มีความพร้อมในการเผยแพร่ศาสนธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาศาสนสถานให้สะอาด สวยงามเพื่อประโยชน์ด้านจิตใจและความสะดวกของประชาชนที่มาใช้บริการและปฏิบัติศาสนกิจ

1.3)  ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่บุคลากรทางศาสนาและวัฒนธรรมและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง เพื่อให้บุคลากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อที่จะให้การศึกษาอบรมแก่เยาวชนวัยเรียนและประชาชนตามควรแก่โอกาส

1.4) จัดระบบสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน น้ำไหล ไฟสว่าง ปรับปรุงถนนหนทางเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีความสะดวกสบายไม่เดือดร้อน

1.5) ส่งเสริมพัฒนาการผลิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชนโดยเชื่อมโยงกับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรกับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของรัฐบาล

1.6) ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

1.7) สนับสนุนกิจกรรมของผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี อสม. อปพร.

1.8) ส่งเสริมหน่วยกู้ภัยประจำตำบลตะปอเยาะ

1.9) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการขยะในหมู่บ้าน/ชุมชน

1.10) เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะมูลฝอยตามถนนและตรอกซอกซอยต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

1.11) จัดซื้อรถบรรทุกขยะเพื่อแก้ปัญหาการเก็บขยะมูลฝอยตกค้าง

2.นโยบายด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ส่งเสริม  สนับสนุนเยาวชนและประชาชนให้ได้โอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมถึงมีความรักและหวงแหน ศาสนา วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และตั้งตนอยู่ในศีลธรรมและจริยธรรมอันดี

2.1) สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพด้านการศึกษาในเกณฑ์มาตรฐานด้านการศึกษา  และความต้องการของชุมชน

2.2) ส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำตำบลให้ได้มาตรฐาน

2.3) ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร ผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ความสามารถและมีความเข้าใจในการพัฒนาความรู้เด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่น่าศรัทธาแก่ผู้ปกครองและชุมชน

2.4) สนับสนุนให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือและส่งเสริมกิจกรรมวันสำคัญของศาสนา

2.5) ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรมและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนหันมาสนใจในหลักธรรมของศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น

2.6) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์เผยแพร่และสืบสานต่อไป

2.7) ส่งเสริมสนับสนุนและปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชน องค์กรเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชนต่างๆ

3.นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ จึงกำหนดนโยบาย ดังนี้

3.1) ปรับปรุงบุกเบิกถนนสายใหม่  ตามความจำเป็นของหมู่บ้านและชุมชน

3.2) ส่งเสริมโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ตามจุดเสี่ยงภัยและที่เป็นอันตรายต่อชุมชน

3.3) ประสานงานกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำระบบการขนส่งให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน

3.4) ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานอื่น

3.5) ส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์ด้านการจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนนทุกรูปแบบ

๔.นโยบายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เขตองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น น้ำตกพุเสด็จและการรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความประทับใจและความพอใจในการเดินทางมาเยือนตำบลตะปอเยาะ จึงกำหนดนโยบาย ดังนี้

4.1) ส่งเสริมเศรษฐกิจ การส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ของประชาชนโดยจัดฝึกอบรมด้านอาชีพ  พัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้

4.2) ส่งเสริมกลุ่มอาชีพด้านการเกษตร สวนยางพารา สวนผลไม้ สวนปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

4.3) ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทุกชนิดประเภทตลอดจนประสานสัมพันธ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล

4.4) ส่งเสริมโครงการพลังงานทางเลือกเพื่อลดค่าครองชีพและลดต้นทุนในการผลิต

5.นโยบายด้านกีฬาและนันทนาการ

ส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬา นอกจากจะทำให้ผู้ที่เล่นกีฬามีสุขภาพอนามัยที่ดีแล้วยังส่งผลให้เกิดความสามัคคีและความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาเกิดขึ้นกับหมู่คณะอีกด้วย ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี จึงได้กำหนดนโยบาย  ดังนี้

5.1) ส่งเสริมสนับสนุน ด้านการกีฬาเพื่อให้ลูกหลานและประชาชนได้ ออกกำลังกายมีสุขภาพที่ดีและห่างไกลกับยาเสพติด

5.2) จัดสร้างสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและอนามัยที่ดีของชุมชน

5.3) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งในระดับหมู่บ้านและในระดับตำบล ตลอดทั้งการแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชุมชนและองค์กรต่างๆ

6.นโยบายด้านสังคม

นอกจากสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิต และประชาชนทุกคนเป็นสมาชิกของสังคมซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อครอบครัว ประชาชนจึงต้องรวบรวมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดูแลสังคมร่วมกัน จึงกำหนดนโยบาย ดังนี้

6.1) สนับสนุนโครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส

6.2) สนับสนุนโครงการแว่นตาให้ผู้สูงอายุทั้งตำบลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6.3) สนับสนุนโครงการวีลแชร์ (รถเข็น) ให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการเพื่อทำให้การดำรงชีวิตและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

6.4) สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการปราบปรามสิ่งเสพติด

6.5) จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากชุมชนทุกพื้นที่รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทุกระดับ

6.6) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดประชุม อบรม สัมมนาให้ความรู้แก่ผู้นำท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งเยาวชน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา กลุ่ม มวลชนต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองท้องถิ่นและแนวทางการพัฒนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ตลอดจนกระบวนการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและสังคม

7.นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งล้ำค่ามหาศาลเป็นที่มารายได้ของธุรกิจท่องเที่ยว หากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ถูกทำลายส่งผลต่อบรรยากาศของโลก เช่น ภาวะโลกร้อน รวมถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ จึงได้กำหนดนโยบาย ดังนี้

7.1) จัดภูมิทัศน์สวนสาธารณะและสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและแหล่งท่องเที่ยวของตำบล

7.2) รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน

7.3) อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งต้นน้ำ ลำธาร คลองให้อยู่สภาพที่สมบูรณ์โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน

7.4) จัดทำระบบน้ำประปาสะอาดให้ดียิ่งขึ้นและเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคของประชาชนทั้งตำบล

7.5) สนับสนุนโครงการขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อการระบายน้ำที่ดีขึ้นและป้องกันปัญหาน้ำท่วม

7.6) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมเพื่อดูแล อนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชน ประชาชน สถานประกอบการ สถานศึกษาและองค์กรต่างๆ

8.นโยบายด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิต

มนุษย์ทุกคนต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ความเป็นจริงประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างไม่เท่าเทียมกัน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องดูแลเอาใจใส่เพิ่มเติมสิ่งที่ขาดหายไปจึงได้กำหนดนโยบาย  ดังนี้

8.1) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดระบบบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับสภาวะของชุมชนและความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของประชาชน

8.2) ส่งเสริมเครือข่ายกลุ่มพัฒนาสตรีให้มีความเข้มแข็ง

8.3) สนับสนุนพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้มีความมั่นคง เข้มเข็งเพื่อให้บริการและการจัดการสาธารณสุขที่ดี

8.4) สนับสนุนให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติงานต่อไป

8.5) จัดซื้อรถประจำ อบต.ตะปอเยาะเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงาน

8.6) รณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โรคเอดส์และอบายมุขทุกชนิด

8.7) ควบคุมป้องกันโรค และพาหนะนำโรคทุกชนิด กำจัดหนูและยุงอย่างต่อเนื่อง

8.8) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน รวมทั้งกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

9.นโยบายด้านการบริหาร การเมืองและการปกครอง

การดำเนินงานที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนจะต้องมีการบริหารการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยยึดหลักที่อยู่ในกรอบของอิสลาม

9.1) ส่งเสริมสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกๆด้าน “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อประชาชนชาวตำบลตะปอเยาะ”

9.2) ปรับกระบวนทัศน์ และกระบวนการจัดการตลอดจนพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติ ให้แก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ บุคลากร สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ  ตั้งแต่ระดับล่างสุดให้เกิดวิสัยทัศน์กว้างไกลทันสมัย สร้างสามัญสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อบริการและรับใช้พี่น้องประชาชน โดยมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์สุขของชาวตำบลตะปอเยาะ

9.3) ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล นิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ อย่างยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลัก “ประหยัดแต่ได้ประโยชน์”

9.4) ปรับปรุงการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน หรือติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ให้ได้รับความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้ได้รับความพึงพอใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว (ONE STOP SERVICE)

9.5) ส่งเสริมหลักและวิธีการปฏิบัติงาน ตลอดจนการใช้วิถีชีวิตร่วมกันในองค์กรด้วยความสามัคคี  และให้เกียรติซึ่งกันและกัน

9.6) ส่งเสริมและสนับสนุนการพาณิชย์ การลงทุน และการทำกิจการ ไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่น หรือการสหการ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ